[:th]CrCF Logo[:]

เรื่องที่ไม่มีวันลืม ของผู้ต้องหาคดีความมั่นคง โดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ | The Nation

Share

“แบแอ” ชื่อสมมุติ เป็นหนึ่งในผู้ต้องขังคดีความมั่นคงสี่สิบคนในเรือนจำกลางสงขลา แบแอได้เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ตอนที่ถูกจับกุมว่า หลังจากถูกจับกุมก็ถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี เขาถูกซ้อมทรมานหลายรูปแบบ นอกจากการแตะ และต่อยที่เขาบอกว่าเป็นเรื่องธรรมดา เขายังถูกช็อคด้วยไฟฟ้า เขายังเล่าให้ฟังถึงวินาทีที่เขาถูกครอบศีรษะด้วยถุงขยะสีดำ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐเอาถุงขยะสีดำออกไปอย่างช้าๆ ก่อนที่เขาจะหมดลมหายใจ

ถุงขยะสีดำนี้จึงเข้ามาเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ โดยเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงฯ จะได้ไม่ต้องเห็นแววตาของมนุษย์ที่ร้องขอชีวิตเพื่อลมหายใจเฮือกสุดท้าย

หลังจากนั้นสองสามวันแบแอถูกส่งตัวมาที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งชื่อค่ายอิงคยุทธ์บริหาร ที่ค่ายทหารแห่งนี้บาดแผลจากการถูกซ้อมทรมานค่อยๆ จางหายไปโดยวิถีธรรมชาติ โดยไม่ได้รับการรักษาพยาบาลใดใด

แบแอเล่าให้ฟังว่าเขาอยู่ในห้องแคบๆ ที่อับชื้นทั้งวันทั้งคืน ห้องนั้นไม่มีแสงไฟ ไม่มีน้ำ และไม่มีที่จะให้ละหมาด เขาถูกบังคับไม่ให้นอนโดยเจ้าหน้าที่ฯจะมาปลุกให้ตื่นขึ้นเพื่อสอบสวนในเวลาตีหนึ่งตีสอง

เวลาผ่านไปประมาณหนึ่งอาทิตย์ ครอบครัวถึงได้รู้ว่าเขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธ์บริหารและญาติก็ได้มาเยี่ยมทันที หลังจากนั้นเขาก็ได้รับรู้ว่าเขาถูกกล่าวหาในคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงภายในของชาติ

ปัจจุบันนี้ เขายังหายใจขัดขัด และทุกครั้งที่ได้ยินเสียงปิดประตูดังๆ เขาก็จะคิดถึงเหตุการณ์ครั้งที่ถูกสอบสวนครั้งนั้น

แบแอ พูดเป็นภาษามาลายูถิ่นว่า “ตะลูโปะ” ซึ่งแปลว่า “ไม่มีวันลืม”

แบแอน่าจะเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคงฯ กลุ่มแรกๆที่ถูกจับกุมภายใต้นโยบายปราบปรามการก่อความไม่สงบหลังเหตุการณ์ปี พ.ศ. 2547 นักสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคมได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายการปราบปรามการก่อความไม่สงบของรัฐบาลมาโดยตลอด

วันนี้แนวนโยบายเดิมๆ ก็ยังคงดำเนินการอยู่ และยังคงมีรายงานเรื่องการซ้อมทรมานอย่างต่อเนื่อง

ในเดือนกันยายนปี พ.ศ. 2551 มีผู้ต้องขังคดีความมั่นคงฯ จำนวน 423 คน ทั้งหมดมีหมายศาลถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำและเกือบทั้งหมดกำลังรอการพิจารณาคดีนัดแรกๆ แบแอถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2547 และกระบวนการในชั้นศาลของเขานั้นยังไม่สิ้นสุด

เขาถูกตั้งข้อหาว่าพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ และข้อหาพยายามฆ่าชาวบ้านอีกหนึ่งคน รวมทั้งข้อหาร่วมเป็นกบฎ อั้งยี่ ซ่องโจร

ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงส่วนใหญ่มักจะไม่ได้พบทนายความก่อนการแจ้งข้อกล่าวหาทั้งที่กฎหมายได้ให้สิทธิไว้ ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขาไม่รู้ด้วยว่าจะไปร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายที่ไหน

เป็นไปได้น้อยมากว่าผู้ต้องหาคดีความมั่นคงจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหรือได้รับการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี การไม่ได้รับการประกันตัวทำให้ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงต้องอยู่ในเรือนจำรอการพิจารณาคดีจนกว่าคดีจะสิ้นสุด นั้นดูเหมือนว่าจะเป็นแนวนโยบายของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงฯ ที่เชื่อว่าเพื่อป้องกันเหตุการณ์ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้

หลายๆ ครั้งกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาคดีความมั่นคงฯ ก็จะถูกนำตัวไปแถลงข่าวหน้ากล้องทีวี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเสมือนการประชาสัมพันธ์งานด้านความมั่นคงฯต่อสาธารณะ ว่าฝ่ายทางการกำลังเอาชนะโจรใต้ จับกุมผู้ก่อความไม่สงบ และหรือประกาศชื่อกลุ่มต่างๆ ว่าเป็นผู้ก่อการร้ายได้อย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันฝ่ายรัฐกลับปฏิเสธที่จะใช้ระบบนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงฯ ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาคดีความมั่นคงเหล่านี้สูญเสียความเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรมของไทยและส่วนหนึ่งก็ได้หลบหนีเพราะเชื่อว่าคดีของตนจะไม่ได้รับความเป็นธรรม

ครอบครัวของผู้ต้องขังคดีความมั่นคงมีความยากลำบากที่หนักหนาในลักษณะที่ต่างออกไป ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงฯเหล่านี้มีลูกหลายคน ซึ่งเป็นปกติในครอบครัวของผู้คนในสามจังหวัดภาคใต้ และถ้าหัวหน้าครอบครัวต้องอยู่ในเรือนจำ ภาระทางเศรษฐกิจก็ตกอยู่กับภรรยาแต่เพียงผู้เดียว เวลาครอบครัวไปเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำก็ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงไม่ต่ำกว่า 500 บาทต่อครั้งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะทางและจำนวนคนที่ไปเยี่ยมผู้ต้องขังที่เรือนจำ

ผลกระทบในด้านจิตใจต่อการถูกจับกุมดำเนินคดีกลายเป็นความรุนแรงต่อเด็กในครอบครัวซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญ การเยี่ยมครอบครัวผู้ต้องขังในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา เด็กอายุ 7 ขวบได้เข้ามาทุบตีผู้มาเยือนอย่างไม่เข้าใจ และตะโกนใส่ว่า “อย่ามาเอาแม่ไปนะ พ่อก็ไม่อยู่แล้ว” ภรรยาผู้ต้องขังรายนั้นเล่าให้ฟังว่า เด็กนอนกับปืนพลาสติกของเล่นทุกคืนตั้งแต่พ่อถูกจับ เหมือนกับว่าเขาพยายามจะปกป้องคุ้มครองครอบครัวแทนพ่อ”

เรารับรู้มาว่าเด็กจำนวนมากกลายเป็นเด็กที่เศร้าซึมและโดดเดี่ยว เด็กหลายคนต้องออกจากโรงเรียนเมื่อครอบครัวไม่สามารถจ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการไปโรงเรียนให้ได้อีกต่อไป

เราได้รับรู้เรื่องที่ครอบครัวผู้ต้องขังต้องถูกโดดเดี่ยวจากสังคมในหมู่บ้านเพราะเหตุที่ถูกจับกุมเป็นคดีความมั่นคงฯ นั้นหมายความว่าเขาเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ชาวบ้านก็จะรู้สึกกลัวที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสนใจเพราะอาจทำให้ถูกต้องสงสัยว่าเป็นกลุ่มหรือพวกเดียวกัน

สภาพปัญหานี้กลายเป็นปมสำคัญอีกปมหนึ่งถ้าผู้ต้องหาหลายคนอาจเป็นผู้บริสุทธิ์

จากสถิติล่าสุดโดยศปกตร. ส่วนหน้า จังหวัดยะลาเปิดเผยว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2547 ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551 ศาลยุติธรรมได้ตัดสินคดีความมั่นคงฯจำนวน 125 คดี มีคดีที่ตัดสินลงโทษทั้งสิ้น 85 คดีหรือคิดเป็นร้อยละ 68 % และคดีศาลมีคำสั่งยกฟ้องจำนวน 40 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 32 % เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งสำนวนให้อัยการเป็นจำนวน 4147 คดี เจ้าพนักงานอัยการมีสั่งฟ้องเพียง 325 คดี คิดแล้วเป็นเพียงไม่ถึง 10 % ของผู้ถูกจับกุมทั้งหมด ในจำนวนนี้ 87% ของคดีความมั่นคงฯ ทั้งหมด เจ้าพนักงานอัยการมีคำสั่งยุติการสอบสวน

ผู้ถูกกล่าวหาคดีความมั่นคงฯเหล่านี้อาจต้องใช้ชีวิตในการควบคุมตัวติดต่อกัน 121 วัน การควบคุมตัวโดยกฎอัยการศึกจำนวน 7 วัน การควบคุมตัวในสถานที่ควบคุมตัวของทหารหรือตำรวจเป็นเวลา 30 วันภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการควบคุมตัวในเรือนจำตามคำสั่งศาลยุติธรรมภายใต้กฎหมายอาญาอีกจำนวน 84 วัน เป็นเวลารวม 121 วันก่อนที่ศาลยุติธรรมจะประทับรับฟ้องคดีและกลายเป็นผู้ต้องหาตามกฎหมาย โดยผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเหล่านี้อาจจะต้องรอการพิจารณาคดีนัดแรกอีกหนึ่งปีก่อนที่ศาลจะเปิดห้องพิจารณาคดีแต่ละคดี

ในปี พ.ศ. 2550 มีผู้ชายจำนวน 40 คนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาสถูกควบคุมตัวจากมัสยิด ต่อมาเป็นเวลาสองสามอาทิตย์ผู้ถูกจับกุม 36 คนถูกปล่อยตัว ถ้าย้อนไปถึงเรื่อง “เรื่องที่ไม่มีวันลืม”ของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงฯ พวกเขาไม่เคยได้รับการเยียวยารักษาสภาพจิตใจจากสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในระหว่าการควบคุมตัว และลองคิดกันว่าพวกเขาจะเล่าประสบการณ์อะไรบ้างให้กับครอบครัว

จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าผู้ต้องขังคดีความมั่นคงจำนวน 25 คนในเรือนจำจังหวัดนราธิวาสเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 โดยโครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย พบว่าพวกเขามีบุตรหญิงชายอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมกันเป็นจำนวน 59 คน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2551 มีผู้ต้องขังคดีความมั่นคงในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส 184 คน และรัฐเองก็ยังไม่มีโครงการให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคงเหล่านี้แต่อย่างใด

เราได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การเจรจาสันติภาพไม่อาจจะประสบผลได้ในสังคมที่จิตวิญญาณของสมาชิกในสังคมเหล่านี้ยังบอบช้ำและทุกข์โศก การส่งเสริมคุ้มครองสิทธิและการเยียวยาให้กับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในภาคใต้น่าจะหมายรวมถึงครอบครัวของผู้ต้องขังคดีความมั่นคงด้วยมิใช่หรือ

ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษ The Nation (26 Sep 2008) http://www.nationmultimedia.com/worldhotnews/read.php?newsid=3008445