[:th]CrCF Logo[:]

สิทธิของพวกเขาใครกำหนด: เหตุเกิดที่บ้านใหม่ในสอย | พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

Share

บ้านใหม่ในสอยเป็นชื่อหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ตั้งของ “พื้นที่พักพิงผู้หนีภัยชั่วคราว” จากการสู้รบในพม่าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งที่ความจริงน่าจะเรียกว่า “ค่ายผู้ลี้ภัย” แต่ทางการไทยไม่ยอมให้ใช้ชื่อนั้นเนื่องจากไม่ยอมรับว่าบุคคลในค่ายเป็นผู้ลี้ภัย (อาจจะเป็นเพราะว่าการยอมรับว่าผู้อพยพจากพม่าเป็นผู้ลี้ภัย (refugee) จะทำให้พวกเขามีสิทธิพิเศษที่พึงได้ตามมาตรฐานสากล?) รัฐบาลไทยยอมรับได้แต่เพียงคำว่า “ผู้หนีภัย” และยังเน้นอีกว่า “ชั่วคราว” ซึ่งหมายความว่าอีกไม่นานก็ต้องกลับ

แต่จนบัดนี้ ผู้ลี้ภัยจากพม่าได้ “หนีภัยชั่วคราว” มาอยู่ในประเทศไทยกว่า 15 ปีแล้ว นานพอที่จะทำให้เยาวชนชาวคะเรนนี (ที่คนไทยเรียกว่า “กะเหรี่ยงแดง”) จากพม่าที่มีอายุ 15 ปีลงมาเกิด และเติบโตในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้

สิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้เป็น 2 เหตุการณ์ที่ผู้เขียนได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในฐานะนักสิทธิมนุษยชนในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ได้เข้าไปร่วมรับรู้ และมีส่วนในการแก้ไขปัญหาในระดับหนึ่ง และทำให้เกิดคำถามว่าใครควรเป็นผู้กำหนดสิทธิเสรีภาพของผู้ลี้ภัยจากพม่าในบ้านใหม่ในสอยแห่งนี้

เหตุการณ์ที่ 1: นายโพควา (นามสมมุติ)

กรณีนายโพควาทำให้ผู้เขียนได้รู้จักค่ายผู้ลี้ภัยบ้านใหม่ในสอยมากกว่าที่รับรู้แต่เพียงว่าแม่ฮ่องสอนมีค่ายผู้ลี้ภัยจำนวน 4 แห่ง และค่ายนี้มีผู้ลี้ภัยมากที่สุดคือกว่า 20,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวคะเรนนี เหมือนกับนายโพควาซึ่งเป็นชาวคะเรนนี สัญชาติไทย และเป็นผู้เคราะห์ร้ายในเหตุการณ์สะเทือนขวัญของผู้คนในค่ายบ้านใหม่ในสอยเมื่อเดือนมีนาคม 2550

การทะเลาะเบาะแว้งถึงขั้นชกต่อยทำร้ายร่างกายกันในค่ายปิดที่มีผู้คนรวมกันอยู่กว่า 20,000 คนไม่ใช่เรื่องผิดปกติ สิ่งที่ผิดปกติคือการทำร้ายร่างกายนายโพควาจนเกือบจะกลายเป็นศพ โดยที่ผู้ลี้ภัยหลายคนทั้งที่เห็น และที่ไม่ได้เห็นด้วยตาเชื่อสนิทใจว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยที่มีหน้าที่ดูแลค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ จนถึงวันนี้ ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าเป็นฝีมือของใครและอาจจะไม่มีวันพิสูจน์ก็ได้

เรื่องเล่าที่ 1 จากปากคำของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน กลุ่ม อส. ได้พบนายโพควาที่มีสภาพปางตาย และนำตัวส่งคลินิกในค่ายผู้ลี้ภัยบ้านใหม่ในสอยกลางดึกคืนวันนั้น โดยไม่มีใครมีส่วนรู้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับนายโพควา ซึ่งต่อมาถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลในแม่ฮ่องสอนก่อนถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในเชียงใหม่เพื่อผ่าตัดกรามที่แตกจากการกระทบกับของแข็งไม่มีคมอย่างแรง รวมทั้งตรวจเช็คสภาพของสมองว่าได้รับการกระทบกระเทือนหรือไม่ อย่างไร มีการระบุว่านายโพควาเป็นหัวขโมยที่ถูกหมายหัว และเป็นที่ต้องการตัวของตำรวจในพื้นที่

เรื่องเล่าที่ 2 จากปากคำของผู้ลี้ภัยที่เห็นเหตุการณ์ระบุว่านายโพควาเข้าออกค่ายผู้ลี้ภัยบ่อยครั้งมาก่อน และก่อนที่จะถูกหน่วยอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยนำตัวไปในหัวค่ำวันนั้น นายโพความีสภาพปกติดี หลายคนยังระบุว่าเห็น อส. หลายคนร่วมกันจับกุมและเตะต่อยนายโพควาไปตลอดทางจนกระทั่งหยุดอยู่ข้างลำธารแห่งหนึ่งก่อนรุมทำร้ายนายโพควาจนเกือบเสียชีวิตไปต่อหน้าผู้ลี้ภัยหลายคนที่แอบดู และแอบฟังเสียงโอดครวญขอชีวิตขณะถูกผูกลากไปด้วยรถมอเตอร์ไซค์

ผู้ลี้ภัยทุกคนในค่ายฯ ไม่สามารถออกมาช่วยรักษาสิทธิในชีวิตร่างกายให้กับนายโพควา เพราะคิดว่าแม้แต่คนไทยด้วยกันเองยังโดนกระทำถึงเพียงนี้ ตัวเองในฐานะผู้ลี้ภัยผู้อาศัยมีหรือที่จะรอดพ้นจากภัยในลักษณะเดียวกันถ้านำตัวเข้าไปเกี่ยวด้วย

เรื่องจากปากคำสองตอนมาบรรจบลงเหมือนกันคือคืนนั้น นายโพควาสลบปางตาย และถูกนำตัวส่งคลีนิก และส่งต่อที่โรงพยาบาล ปัจจุบัน ชายหนุ่มรูปร่างสันทัด อายุ 27 ปี มีอาการทางประสาท ตาข้างขวามัวไม่สามารถมองเห็นได้ชัด แขนซ้ายพิการ มือไม่สามารถกำหรือแบได้ ไม่สามารถเดินได้คล่อง ต้องใช้ไม้เท้าค้ำยัน ไม่สามารถทำงานได้

นายโพควาได้เปิดเผยความในใจในตอนหนึ่งว่า “อยากให้พวก อส. ที่ร่วมกันทำร้ายจ่ายค่าชดใช้เพื่อจะได้นำเงินไปใช้จ่ายในการรักษา และอยากให้พวกที่ร่วมกันทำร้ายได้รับโทษ” (จากบทสัมภาษณ์นายโพควาที่แม่ฮ่องสอน เมื่อเดือนธันวาคม 2550)

สิทธิในชีวิตร่างกาย หรือ Rights to life เป็นหลักการพื้นฐานที่รัฐพึงเคารพ ปกป้อง และหาแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้สิทธินี้ถูกละเมิด 1ยกเว้นในบางกรณีที่กฎหมายในประเทศยอมรับการละเมิดสิทธิในชีวิตร่างกายโดยคำสั่งของศาลยุติธรรมในการตัดสินประหารชีวิต ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าแม้การตัดสินของศาลฯ ก็ยังคงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำให้มีการรณรงค์เพื่อให้ยุติโทษประหารชีวิต และในหลาย ๆ ประเทศก็มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว แม้ว่าชีวิตของนายโพควาจะไม่ได้ถูกพรากไป แต่จิตวิญญานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนายโพควาก็ได้ถูกทำให้เหลือเพียงเท่ากับหมาตัวหนึ่งในคืนนั้น และปัจจุบัน นายโพควาได้กลายเป็นคนพิการและเป็นภาระให้ครอบครัวที่มีฐานะยากจนอยู่แล้วตลอดไป

แม้เวลาจะล่วงเลยมาถึง 1 ปี และมีการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ระบบยุติธรรมปกติในประเทศไทยกลับยังไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมและให้การเยียวยานายโพควาอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างและเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก

การดำเนินการสอบถามข้อเท็จจริงโดยองค์กรอิสระแห่งชาติที่ได้รับเรื่องร้องเรียนนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก ทางคณะผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในค่ายเพียง 1 ชั่วโมง และไม่ได้พูดคุยหรือสอบถามข้อเท็จจริงจากผู้ลี้ภัยอย่างเป็นอิสระ พยานทุกคนเดินทางมากับ อส. ในค่ายฯ ทำให้ไม่สามารถได้ข้อมูลใดใดเนื่องจากพยานหวาดกลัว นายโพควาเองยังไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีเนื่องด้วยสภาพร่างกายไม่อำนวย และการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายไม่ต่อเนื่อง ทางอำเภอได้ติดต่อให้ญาติไปตกลงเพื่อรับเงินทำขวัญประมาณ 100,000 บาท ทั้งนี้ ได้ทราบว่ามีการจ่ายเงินบ้างแล้วบางส่วนแต่ไม่ทั้งหมด

คำถามที่คาใจผู้เขียนคือความรับผิดชอบของรัฐมีเพียงเท่านี้หรือ เหตุการณ์เช่นนี้คงไม่ได้เกิดที่บ้านใหม่ในสอยเท่านั้น และก็คงไม่ได้เกิดขึ้นกับนายโพควาคนเดียว นายโพควาเป็นเพียงผู้เคราะห์ร้ายรายหนึ่งในสังคมไทยเท่านั้นที่เป็นเหยื่อของการใช้อำนาจเกินเลยของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเนื่องมาจากความเป็นชนเผ่าที่มักถูกมองว่ามีคุณค่าความเป็นมนุษย์ไม่เท่าเทียมกับคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย

ที่ผ่านมา มีทั้งข่าวลือ และเรื่องราวปากต่อปากในหมู่ผู้ลี้ภัย ถึงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของ อส. บางคน เช่น มีการคุกคามทางเพศ การทำร้ายร่างกาย หรือการหยิบฉวยข้าวของในบ้านผู้ลี้ภัยตามอำเภอใจ แต่การเปิดเผยเรื่องราวต่อสาธารณะและการสืบสวนหาข้อเท็จจริงโดยหน่วยงานที่เป็นกลางและยุติธรรมกลับไม่ง่ายนัก เพราะค่ายผู้ลี้ภัยภายใต้การดูแลของรัฐบาลไทยทุกแห่งเป็นแดนสนธยาที่บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าออกโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุการณ์เหล่านี้จึงกลายเป็นเพียง “เรื่องเล่า” ที่ถ่ายทอดต่อกันมา โดยไม่มีใครสามารถเข้าไปพิสูจน์ข้อเท็จจริง มีแต่สร้างความหวาดกลัวอย่างต่อเนื่องแก่ผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่า

ชีวิตในค่ายบ้านใหม่ในสอยของผู้ลี้ภัยชาวคะเรนนีกว่า 20,000 คนจึงเปรียบได้กับการหนีเสือปะจระเข้ พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความไม่มั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินอย่างไร้อนาคต ไม่มีใครคุ้มครองสิทธิในชีวิต การปกปิดซ่อนเร้นหรือเพียงจ่ายเงินชดเชยกลับยิ่งทำให้เกิดการบ่มเพาะความอยุติธรรมในสังคมเล็กๆ อย่างค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้

เหตุการณ์ที่ 2: นายเดวิธ (นามสมมุติ)

สำหรับเหตุการณ์ที่ 2 นั้นเกิดขึ้นในคืนวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เมื่อนายเดวิธ (นามสมมุติ) ต้องถูกพรากชีวิตไปอย่างง่ายดายจากการยิงอาวุธปืนเข้าใส่ฝูงชนในค่ายผู้ลี้ภัยบ้านใหม่ในสอยหลังเกิดเรื่องทะเลาะวิวาทกันระหว่างกลุ่ม อส. ที่ดูแลความปลอดภัยในค่ายฯ กับกลุ่มเยาวชนที่จัดงานเลี้ยงปิดภาคเรียน

เรื่องเล่าจากปากคำของผู้ลี้ภัยบางส่วนที่มีโอกาสให้ข้อมูลระบุว่าผู้ลี้ภัยต้องการให้ อส. ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยอยู่ภายนอกค่ายฯ ไม่อยากให้ อส. เดินตรวจตรา และตรวจค้นผู้ร่วมงานเลี้ยง เมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงเกิดการทะเลาะและชกต่อยกันขึ้น มีการจับตัวนักเรียนคนหนึ่งไป ทำให้เยาวชนทั้งหมดไม่พอใจและลุกฮือขึ้นต่อต้าน โดยเดินขบวนไปที่หน้าค่ายผู้ลี้ภัยซึ่งเป็นที่พักและด่านตรวจของกลุ่ม อส. ระหว่างที่เดินไป ก็มีการร้องเพลง และตะโกน รวมทั้งขึ้นป้ายประท้วงเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในค่ายฯ และแสดงความต้องการสิทธิเสรีภาพที่ปราศจากการกดขี่จากเจ้าหน้าที่ของรัฐไทย จนเกิดการยิงปืนเข้าใส่ผู้เดินขบวนซึ่งทำให้นายเดวิธเสียชีวิต

ฝ่ายเยาวชนก็ได้ทำรถกระบะ และรถจักรยานยนต์เสียหาย ซึ่งภายหลัง ทางการไทยได้ระบุมูลค่าเสียหายหลายล้านบาท และเตรียมฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำลายทรัพย์สินของทางราชการ โดยทางราชการเห็นว่าผู้ลี้ภัยทำเกินกว่าเหตุ ต้องการประทุษร้าย อส. และที่ อส. ได้ยิงปืนออกไปก็เพื่อป้องกันตัว โดยระหว่างที่เกิดเหตุชุลมุน กลุ่ม อส. แทบจะเอาชีวิตไม่รอด ต้องหนีภัยลงมาในเมืองกลางดึกอย่างไร้ศักดิ์ศรี ทางราชการจึงเห็นว่าสิทธิในชีวิตของกลุ่ม อส. ก็ได้รับการคุกคามจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

หลายคนมองว่าการต่อต้านของผู้ลี้ภัยในค่ายบ้านใหม่ในสอยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการจัดการบริหารในค่ายฯ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในอำเภอได้รื้อโครงสร้างอำนาจผู้นำชุมชนในค่ายบ้านใหม่ในสอยขนานใหญ่ ในเรื่องของการจัดสรรปันส่วนอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่องค์กรระหว่างประเทศจัดหาให้เพื่อช่วยเหลือการดำรงชีวิตของทุกคนในค่าย

แต่เดิมผู้นำชุมชนจะหักการปันส่วนอาหาร และจะยึดอาหารของผู้ที่ทำผิดกฎไว้เป็นกองกลาง เพื่อนำไปขายในตลาดมืดและส่งเงินกลับไปใช้ในการสู้รบกับกองกำลังทหารพม่าเพื่อกู้ชาติคะเรนนี การเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากผู้นำชุมชนสู่ผู้ปกครองไทย อาจทำให้ชุมชนในค่ายฯ เกิดความไม่พอใจและสร้างกระแสการต่อต้านการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไทย รวมทั้งเรียกร้องสิทธิในการจัดการบริหารกิจการในค่ายฯ ให้กลับเป็นแบบเดิม

ใครควรจะเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของผู้คนกว่า 20,000 คนในค่ายผู้ลี้ภัยที่เป็นแดนสนธยาแห่งนี้ รัฐบาลไทยในฐานะผู้ให้ที่พักพิงควรมีสิทธิในการกำหนดอนาคตและชีวิตของผู้ลี้ภัยมากน้อยเพียงใด แนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไรในเมื่อค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ประกอบไปด้วยชนต่างเผ่าต่างชาติพันธุ์ ทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างความลงตัวในการอยู่ร่วมกันในผืนแผ่นดินไทยในเมื่อเหตุการณ์ในพม่าในทศวรรษนี้คงยังไม่มีหนทางที่จะยุติหรือสงบลงได้ ซึ่งหมายความว่าผู้ลี้ภัยจากพม่าจะยังคงไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้เสียทีแม้ว่าเวลาจะผ่านไปแล้วถึง 15 ปี

คำถามที่อยากจะถามก็คือสิทธิของพวกเขา ใครควรเป็นผู้กำหนด????

Source: http://www5.sac.or.th/downtoearthsocsc/modules.php?name=News&file=categories&op=newindex&catid=1

[:]

  • 1
    ยกเว้นในบางกรณีที่กฎหมายในประเทศยอมรับการละเมิดสิทธิในชีวิตร่างกายโดยคำสั่งของศาลยุติธรรมในการตัดสินประหารชีวิต ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าแม้การตัดสินของศาลฯ ก็ยังคงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำให้มีการรณรงค์เพื่อให้ยุติโทษประหารชีวิต และในหลาย ๆ ประเทศก็มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว