[:th]CrCF Logo[:]
[:th]พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย[:]

แปลงการเมืองใหม่ ให้เป็นการเมืองประชาธิปไตยระบบโควต้า โดย สมศรี หาญอนันทสุข – เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี

Share

ในขณะที่หลายฝ่ายมองการเสนอการเมืองใหม่ของพันธมิตรเป็นเรื่องตีบตัน และเป็นไปไม่ได้ เราคงต้องถามผู้เสนอแนวคิดให้มีการเลือกตั้งระบบ 70/30 ว่ามันตั้งอยู่บนพื้นฐานประชาธิปไตยแบบใด ได้มีการทำการบ้านมากน้อยแค่ไหนก่อนเสนอให้คนคิด อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ทุกฝ่ายต้องมาโจมตีกันไม่รู้จบ เราอาจจะทดลองเสนอการเมืองใหม่ในมิติที่คิดว่าทุกคนน่าจะรับได้ และนำไปลงรายละเอียดต่อยอดกันภายหลัง

สิ่งที่ทุกคนทราบดีว่าการเมืองแบบเดิมๆที่เคยใช้ระบบการเลือกตั้งที่ผ่านมาได้สร้างความคับข้องใจให้กับผู้คนจำนวนมาก เพราะเป็นการเมืองที่ใช้เงินเป็นใหญ่ (money politics) และใช้อำนาจควบคุมกลไกต่างๆ ซึ่งไม่อาจทำให้คนชายขอบ คนยากคนจนได้มีโอกาสมีตัวแทนเดินเข้าสู่สภาได้อย่างเสมอภาค ทั้งนี้รวมถึงตัวแทนของผู้หญิงที่มีอยู่น้อยนิดด้วย ที่เขียนเช่นนี้ไม่ได้ตำหนิพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่ประเทศไทยมันเป็นของมันอย่างนี้มานานแล้ว ระบบการเลือกตั้งผู้แทนที่เดินเข้าสู่สภามักจะมาจากคนกลุ่มหนึ่ง หน้าเดิมๆ

และยิ่งไปกว่านั้นก็ยังเห็นแนวโน้มว่า หากใช้ระบบเดิม ก็จะทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นแบบมาเลเซียและสิงคโปร์หรือเขมรในปัจจุบัน ซึ่งประชาสังคมในประเทศดังกล่าวก็ได้เคยเตือนคนไทยไว้แล้วว่า หากปล่อยให้การเมืองเป็นอยู่อย่างนั้น ต่อไปคนไทยก็ต้องยอมรับว่าการถ่วงดุลย์ในสภาจะค่อยๆเลือนหายไป และในที่สุดพรรคฝ่ายค้านก็จะเหลือในสภาในลักษณะที่เป็นไม้ประดับเท่านั้น

แต่ประเทศไทยที่ผ่านมา หากเปรียบเหมือนอาการของโรค ก็คงไม่พ้นที่จะพูดว่ากำลังมีอาการผื่นคันของการเป็นโรคภูมิแพ้แสดงออกทางร่ายกาย เป็นการแสดงอาการของการไม่ยอมรับสารหรืออาหารอะไรบางอย่าง การแสดงออกได้เลยเถิดไปไกลจนกลายเป็นการดื้อยา หาเหตุวินิจฉัยไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ ต้องหาตัวยาใหม่เข้ามารักษา ในรุปแบบใหม่ ซึ่งอาจจะมีข้อเสนอที่หลากหลาย

หากเราลองมาดูรูปแบบการเมืองแบบใหม่จากประสบการณ์ของต่างประเทศที่เคยมีความขัดแย้งภายในกันมานาน ได้หาทางออกอย่างไร ที่สามารถดำรงรูปแบบประชาธิปไตยไว้ได้ด้วย แต่เป็นการเมืองในระบบของการสร้างรางหลายรางให้น้ำไหลไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกัน ไม่ใช่ยัดเยียดให้คนส่วนใหญ่ต้องยอมรับการเลือกคนกลุ่มเดิมๆ กลุ่มหนึ่งเข้ามาเป็นเจ้านายตัวเองอยู่ร่ำไป

การเมืองใหม่ดังกล่าวไม่เหมือนการเมืองแบบพันธมิตร แต่เป็นการเมืองที่เรียกว่า ตัวแทนแบบระบบโควต้า ที่กฏหมายใหม่ได้เปิดโอกาสให้ ผู้ด้อยโอกาสหรือมีโอกาสน้อยกว่า ได้มีตัวแทนในจำนวนที่แน่นอนในสภา กล่าวคือจะเป็นการกำหนดกฏหมายไว้ชัดเจน ว่าให้มีสัดส่วนจากการเลือกตั้ง (Party list หรือ proportional list) เท่าไหร่ ส่วนที่เลือกกันเข้ามาในนามบุคคลตามพื้นที่เขตเลือกตั้ง (Constituency list) จะต้องมีการกำหนดสัดส่วนไว้ด้วย

เป็นต้นว่าจะให้มีตัวแทนชนกลุ่มน้อย ตัวแทนผู้หญิง หรือ ตัวแทนชาวไร่ชาวนา ผู้ใช้แรงงาน หรือตัวแทนคนมุสลิม ไว้กี่คน ดังจะเห็นการพัฒนาบางส่วนไปบ้างแล้วในการเลือกตั้งของไต้หวันที่กำหนดให้ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิได้รับเลือกในระบบสัดส่วน เป็นตัวเลขตายตัวเลยว่ากี่คน โดยผู้สมัครจะส่งตัวแทนลงแข่งในการเลือกตั้งด้วยในกลุ่มชนกลุ่มน้อยด้วยกัน

ตัวอย่างจากประเทศเนปาล จะกำหนดให้ทุกพรรคต้องส่งผู้หญิง (Women quota) ลงแข่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่แน่นอนในระบบสัดส่วน มิฉะนั้นจะไม่ให้จะไม่ให้พรรคลงทะเบียน และให้โควต้ากับชนกลุ่มน้อย Tarai ที่อาศัยอยู่ภาคใต้ของเนปาลและกลุ่มอื่นๆที่อยู่ในที่ต่างๆด้วย การให้โควต้าสตรีเข้าสู่สภาเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น ดังเช่นที่กำหนดในประเทศอัฟกานิสถาน และติมอร์ตะวันออก เป็นต้น ระบบนี้ได้แก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมและการได้เปรียบเสียเปรียบ

รวมทั้งอาจจะแก้ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ได้ด้วยก็อาจเป็นได้ เพราะมิฉะนั้นผู้ด้อยโอกาส ในสังคม จะรู้สึกว่า พวกตนซึ่งถูกกดให้เป็นผู้ตามผู้นำหน้าเดิมๆมาตลอดนั้น ครั้งนี้ก็จะได้มีตัวแทนของตนเองลงแข่งในการเลือกตั้งที่มีหลักประกันว่ากลุ่มตนมีตัวแทนเข้าไปนั่งในสภาได้จริงๆ ส่วนการจะให้สังกัดพรรคหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป จุดนี้น่าจะเป็นทางออกจุดแรกที่ทำให้พันธมิตรซึ่งอยากเห็นการเมืองในมิติใหม่ๆ ซึ่งมีความเที่ยงธรรมและลดการระแวงว่า ชนชั้นสูงหรือคนมีเงินเท่านั้นที่จะทำงานการเมืองให้กับประเทศ และครอบงำสังคมแบบไม่หยุดหย่อน ส่วนพรรคการเมืองทั้งหลายในปัจจุบัน อาจจะเสนอให้ระบบโควต้านี้กำหนดให้ผู้สมัครต้องสังกัดพรรคการเมืองเพื่อตนจะเอาคนของตนเข้ามา ซึ่งอาจจะเกิด

ปัญหาเดิมเข้ามาได้อยู่นั้น จุดนี้ต้องหาทางออกในขั้นต่อไป แต่อย่างไรก็ยังดีกว่าการที่มีนักการเมืองแบบเก่าซึ่งให้ตัวเลือกไว้น้อยมาก ไม่มีความหลากหลาย และไม่ได้เป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ หรือคนชั้นล่างได้จริง

การแข่งขันในรูปแบบนี้ หากไม่ต้องการให้มีกลุ่มกระจัดกระจายมากเกินไป อาจจะวิธีการจัดกลุ่มตัวแทนต่างๆ ให้เป็นกลุ่มเดียวกัน แล้วแข่งขันกันเอง เช่นกลุ่มกรรมกรโรงงานและรัฐวิสาหกิจ อาจจะอยู่กลุ่มเดียวกัน ชนกลุ่มน้อยทั้งหลายอยู่กลุ่มเดียวกัน ชาวไร่ชาวนาจะเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง หลายคนอาจจะมองว่าการจัดโควต้าเช่นนี้ เป็นการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะที่ยอมให้ผู้หญิงเริ่มได้สัดส่วนที่มากขึ้นทั้งที่หลายคนมองว่า ผู้หญิงหลายคนมีความสามารถน้อยกว่าผู้ชาย หรือชาวไร่ชาวนากรรมการเองก็มีการศึกษาหรือมีความสามารถน้อยกว่านักธุรกิจหรือนักวิชาการ แต่กลับได้มีโอกาสเดินเข้าสู่สภาอย่างทัดเทียมกันกับคนอื่นๆ ได้

ประเด็นนี้หากมองกันอย่างลึกซึ้งแล้ว จะเห็นได้ว่าในระยะแรกๆของการปฏิรูปการเมืองแบบนี้ ทุกฝ่ายต้องยอมเปิดใจให้กว้าง ต้องยอมให้มีเลือกปฏิบัติในเชิงบวก หรือที่เรียกว่า Positive discrimination เอาไว้ก่อนเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้คนดังกล่าวซึ่งไม่ร่ำรวยหรือไม่มีโอกาสทางการเมือง แต่มีศักยภาพที่สามารถพัฒนาไปสู่นักการเมืองที่ดีได้ พวกเขาจะได้เข้ามาปูทางให้การเมืองมีความเสมอภาพมากยิ่งขึ้น เพราะการ

เลือกตั้งของไทยหรือในหลายประเทศที่ผ่านมายังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยจริง ซ้ำร้ายกว่านั้นยังเป็นการยัดเยียดให้ต้องยอมรับการเมืองแบบสกปรก ที่ใช้เงินมหาศาลมาแข่งขันกันเพื่อให้ได้คนเก่าหรือพรรคพวกในแวดวงเดิมๆเข้ามา ส่วนคนสาขาอาชีพอื่นๆเป็นแค่ตัวประกอบทางการเมืองในระบอบที่เรียกว่าประชาธิปไตย ซึ่งก็มักจะเป็นตัวประกอบในลักษณะของผู้ไปลงคะแนนเสียงเท่านั้น ตัวแทนคนกลุ่มต่างๆดังกล่าวจะได้เริ่มรู้จักคิดเองโดยไม่ต้องคอยให้เงินเข้ามามีบทบาทมากนัก และเริ่มปกป้องผลประโยชน์กลุ่ม ของตนจากปัญหาที่ตนเห็นหรือประสบจากชีวิตจริงมากขึ้น

แต่การกำหนดโควต้าเช่นนี้จะเป็นการกำหนดในรัฐธรรมนูญและกฏหมายเลือกตั้งอย่างถาวรหรือชั่วคราว 10-20 ปีนั้นเป็นเรื่องที่ต้องตกลงกันเองหรือทดลองกันดู เพราะเมื่อกลุ่มต่างๆมีความเข้มแข็ง เริ่มมีปัญญาชนของตนเองชัดเจนขึ้น และได้เรียนรู้ระบบการปกครองแบบมีตัวแทนที่เป็นขอบตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาคนกลุ่มเก่ากลุ่มเดียวอีกต่อไป อีกทั้งทำให้สตรีมีความมั่นใจและเข้มแข็งได้เท่าเทียมชายได้แล้ว ในตอนนี้เราอาจจะยกเลิกระบบโควต้าออกไปก็ได้

แต่หากมีการเสนอให้มีการเลือกตั้ง 30 เปอร์เซ็นต์ แล้วอีก 70 เปอร์เซ็นต์มาจากการแต่งตั้ง เพราะไม่คิดว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าใจหรือคิดว่าคนเหล่านั้นไม่รู้จักเลือกคนเข้าสู่สภานั้น เป็นเรื่องที่ผู้เขียนและคนส่วนใหญ่ยอมรับได้ยาก เพราะปัญหาที่คนเลือกผู้แทนเข้าสู่สภาอย่างฉาบฉวยไม่คิดหน้าคิดหลังนั้น เราจะต้องโทษการให้การศึกษาทางจิตสำนึกทางการเมืองประชาธิปไตย และการสร้างวัฒนธรรมใหม่ ที่จะต้องยับยั้งการซื้อเสียงให้ได้ และต้องให้ทุกคนเข้าใจว่าผลของการลงคะแนนของเขานั้นจะมีผลใหญ่หลวงต่อประเทศชาติอย่างไร พวกเขานั้นควรจะต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วยอย่างไร

เราคงจะไม่ยอมหันกลับไปสู่การเมืองที่ไม่มีการเลือกตั้งเช่นนั้นอีกต่อไปแต่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันนำปัจจัยที่เป็นปัญหาต่างๆในอดีตมาแก้ไข และทำงานหนักมากกว่าเก่ามากขึ้น แต่ก็ต้องให้อิสระในการคิดเองเลือกเอง โดยไม่เป็นการชี้นำจนจะกลายเป็นการครอบงำ ไม่มีอิสระเสรีในการเลือกตั้งไปอีกแบบหนึ่ง การลงโทษในการซื้อสิทธิขายเสียงอาจจะต้องลงโทษผู้รับเงินด้วยอย่างจริงจัง

รูปแบบการเมืองใหม่แบบที่ผู้เขียนเสนอมานี้เหมาะสมกับประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา และเป็นการคุ้มค่าต่อการลงทุนเป็นอย่างยิ่ง เพราะเท่าที่ผ่านมาเราได้ลงทุนให้กับคนที่ซื้อเสียงเข้าไปแล้วไปโกงกินบ้านกินเมืองมากมาย ทำไมเราจะไม่ยอมทำให้การเมืองใหม่เรามีความเท่าเทียม โปร่งใสกว่าเก่า หากทำได้เช่นนี้ ก็จะลดความคับแค้นใจของคนลงได้มาก แต่ทั้งหลายทั้งปวง สมาชิกสภาผู้แทนทุกคนต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ดังนั้นระบบสัดส่วนแบบนี้มันต่างจากระบบสัดส่วนที่พันธมิตรเสนอ แต่เชื่อว่าเป้าหมายสุดท้ายมันไม่ต่างกัน เพราะเราต้องการตีวงแคบทางการเมืองเพื่อช่วยให้คนด้อยโอกาสได้มีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น และโดยตรงด้วย